วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อพ่อผมเป็นเสรีไทย

ขบวนนำงาน 66 ปีวันสันติภาพไทย 
วันนี้ผมพาพ่อไปร่วมงาน 66 ปี วันสันติภาพไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งไปกราบท่านปรีดี พนมยงค์ (Code Name: รูธ) ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งในวันนี้ก็มีกลุ่มนักเรียนเตรียมฯจุฬา-ธรรมศาสตร์อาสาศึก (นร.สห. 2488) ไปร่วมงานกันประมาณ 20 ท่าน คุณพ่อผมในขณะนั้นเป็นเสรีไทยสายนักเรียนนายสิบสารวัตทหารเตรียมฯ จุฬา-ธรรมศาสตร์ โดยเป็นเสรีไทยรุ่นเดียวกับคุณประมวล สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเสรีไทยสายอเมริกาอย่างคุณหญิงอัมพร มีศุข มาร่วมเป็นองค์ปาฐก ซึ่งท่านเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการ เช่น รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ อธิบดีกรมวิชาการ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ 
ในงานเสวนา 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งต่อมาเรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมอินโดจีน ตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้รุกรานประเทศไทย (ญี่ปุ่นโจมตี เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ตามเวลาของประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ โดยยุทธการที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นที่รู้จักคือ ยุทธการอ่าวมะนาว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกองบิน 53 ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เหตุผลที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยนั้นมีเป้าหมายที่จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางลำเลียงคน อาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่า โดยมีเป้าหมายต่อไปที่จะบุกไปยังประเทศอินเดีย และอีกด้านหนึ่งก็จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางบุกแหลมมาลายูซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของสหราชอณาจักร ซึ่งจากการใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางในการส่งกำลังผ่านไปยังพม่าและมาลายูในช่วงต้นกลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยในเวลาต่อมาเมื่อญี่ปุ่นสามารถชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ในหลายๆ สมรภูมิ แรงกดดันนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่อำนาจและมีอิทธิพลเหนือดินแดนอินโดจีนแทบทั้งหมด และเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยยอมลงนามทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ที่วัดพระแก้ว และจากเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) ที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น
ขบวนการเสรีไทยที่ก่อกำเนิดขึ้นนั้นแบ่งออกเป็นสามสายคือ
สายที่หนึ่ง เป็นกลุ่มคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
               โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ
สายที่สอง เป็นกลุ่มคนไทยในสหราชอณาจักรอังกฤษ 
               โดยมีกลุ่มเจ้านายและนักเรียนเป็นผู้นำ
สายที่สาม เป็นกลุ่มคนไทยภายในประเทศไทย 
               โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ
น.พ.บุณย์ธนิสร์ โอทกานนท์ เสรีไทย
ในตอนนั้นคุณพ่อผมยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมจุฬาฯ และก็ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบสารวัตทหาร ขึ้นตรงกับพลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ พวก นร.สห. มักเรียกท่านว่า "ป๋า" ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นองคมนตรี) สารวัตรใหญ่เสรีไทยสายทหารเรือ  ซึ่งระหว่างนั้นต้องไปฝึกกินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ประมาณ 3 เดือน และอาคารโดมก็ถูกใช้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของคณะเสรีไทยสายภายในประเทศ ภารกิจหลักส่วนหนึ่งตอนนั้นก็คือเตรียมพร้อมที่จะสู้กับผู้บุกรุก (นร.สห. 2488 รู้จักกันในชื่อวันดีเดย์) และให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย และเตรียมพร้อมซึ่งหากกลุ่มทหารญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้สงครามนั้นเกิดลุกฮือขึ้นก่อการร้ายในประเทศ เสรีไทยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธชนิดต่างจากสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 แต่ก็ไม่ได้ก่อการใด แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มสารวัตนักเรียนกลุ่มนี้ (จำนวนทั้งสิ้น 298 นาย) ก็ยังได้รับการฝึกไปจนถึงเดือนกันยายน 2488 และได้รับภารกิจต่อเนื่องในการปรามปรามความวุ่นวายที่ก่อขึ้นจากชาวจีนบางส่วนในเยาวราชที่ก่อความวุ่นวายแข็งข้อ (เรียกในชื่อ เลี๊ยพะ) นักเรียนสารวัตทหารชุดนี้จึงถูกส่งไปปราบปราม จนกระทั่งความวุ่นวายถูกปราบปรามและสงบลงในเดือนพฤศจิกายน 2488

เสรีไทย นักเรียนนายร้อยสารวัตทหารและนายสิบสารวัตทหาร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงและการก่อความวุ่นวายในประเทศจบสิ้น คณะเสรีไทยนักเรียนสารวัตและนักเรียนนายสิบสารวัตกลุ่มนี้ก็ได้แยกย้ายกันไป บางส่วนก็เข้ารับราชการต่อในกรมศุลากร (ที่ไปรับราชการในกรมศุลากรนั้นคาดว่าเพราะพลเรือตรีหลวงสังวรณ์ยุทธกิจนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร) บางส่วนก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย บางส่วนไปอยู่การรถไฟ หรือไปเป็นปลัดอำเภอ ในส่วนคุณพ่อผมก็กลับมาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังนักเรียนสารวัตทหารกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล
ความเกี่ยวพันของเสรีไทยกับวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันสันติภาพ ตามความคิดเห็นของผมก็เพราะในวันที่ 16 สิงหาคมนี้เป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสันติภาพ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศสันติภาพนี้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1) โดยมีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้นเป็นการกระทำที่ผิดจากเจตน์จำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมูญและกฎหมายไทย และประชาชนชาวไทยก็ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว และถือได้ว่าการกระทำนั้นเป็นโมฆะไม่ผูกผันกับประชาชนชาวไทย และจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์และร่วมมืออย่างเต็มที่กับสหประชาชาติเพื่อสถาปนาเสถียรภาพของโลกนี้ โดยผู้ประกาศคือท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ซ้าย: ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขวา: ดร.ป๋วย อึ้งภากร
ซึ่งหากจะต่อภาพจิ๊กซอนี้เข้าด้วยกันก็จะพอเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลไทยในการร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริการ และได้ทำการต่อต้านการกระทำในครั้งนั้นรวมทั้งผลักดันให้เกิดการประกาศโมฆะกรรมของข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้น และเป็นผลประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศของเรานั้นรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม ซึ่งผลของผู้ชนะกับผู้แพ้นั้นอาจจะแตกต่างกันอย่างลิบลับต่อการดำรงอยู่ของชาติไทยและประชาชนชาวไทยในเวลาต่อมา 
ผมขอขอบคุณเสรีไทยทุกสายและทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปกป้องเอกราชชาติของเราในกาลนั้นและขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นแหล่งพักพึ่งพิงและเป็นกองบัญชาการเสรีไทยให้ นร.สห. รวมถึงคุณพ่อของผม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งที่ต้องจดจำเพราะที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยทำให้โลกนี้เกิดสันติภาพ   

บุริม โอทกานนท์
16 สิงหาคม 2554

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1)
2. หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ “66 ปีวันสันติภาพไทย”
3. http://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิญี่ปุ่น
4. http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W3610563/W3610563.html 
5. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=18-04-2010&group=29&gblog=22
6. http://www.nhrc.or.th/menu_content.php?doc_id=95
7. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=482837



วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อิ่มท้อง ลองของใหม่ที่ EST.33

The Nine, Rama IX road
ก่อนกลับบ้านแวะไปที่ Neighbourhood Mall เปิดใหม่ที่ชื่อ The Nine อยู่บนถนนพระราม 9 ตรงนี้เดิมเคยเป็น Premier พระราม 9 ครับ แต่ไม่ติด เลยปรับโฉมใหม่ คราวนี้คนตรึมเลย ที่จอดรถหากันแทบไม่ได้ นี่ขนาดร้านรวงต่างๆ ยังเปิดไม่หมดนะเนี่ย

ลองเดิน Mall ใหม่ซักพักท้องก็ร้อง จ๊อกๆ ซะแล้ว มองหาร้านอาหารซักพักก็พบว่ามีร้านอาหารเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น Fast Food อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น หรืออาหารฝรั่ง ท้ายสุดมาหยุดโป๊ะลงที่ EST.33 ลองซักมื้อ

ชุดไส้กรอก
จาน Appetizer คืนนี้เป็นจานไส้กรอก เค้าให้ไส้กรอกมาสามชิ้น เพราะมัวหิวเลยลืมถามว่าไส้กรอกชื่ออะไรบ้าง แท่งแรกเป็นสีนวลขาว แท่งใหญ่หน่อย น่าจะเป็นไส้กรอกเนื้อลูกวัว เส้นนี้รสชาติธรรมดาครับไม่ค่อยแตกต่างจากไส้กรอกรูปแบบเดียวกันที่อื่นๆ แท่งกลางสีแดงสด เป็นไส้กรอกหมูพริก มีไทยเม็ดฝังเป็นระยะตามความยาว ย่างแบบแห้ง ได้รสเนี้อเต็มๆ แบบไม่ติดมัน ไส้ที่ใช้ทําไส้กรอกเหนียวนิด ได้รสการกัดแบบฉีกขาด กร๊วม กร๊วม เหมือนแฟรงค์เฟริสต์ ถ้าแนวนี้ เส้นยาวสีแดงที่หนึ่งว่ารสชาติโอเคครับ ส่วนแท่งสุดท้ายเป็นแบบผสมๆ รสชาติก็ไม่เด่นนัก


Copper Beer
ต่อมาเป็นน้ำสีทอง พรายฟองไม่ค่อยมี เค้าตั้ง Slogan ว่า "The One The Only ครับ หรือชื่อ Copper Beer ผมลองแล้วดูว่าเป็นเบียร์กลิ่นหอมดอกฮอพแบบจางๆ ติดขมนิดๆ ไม่มาก ดีกรีไม่รุนแรง Body แน่นปานกลางไม่มากนัก น้ำสีทองออกน้ำตาลเข้มแต่รสยัง ไม่ติดลิ้นนะ ทางร้านเค้า Claim ว่า "เป็นเบียร์ที่บริวมาสเตอร์ของไทยผสมกับข้าว GABA หรือข้าวกล้องชั้นดี เพื่อให้ได้สีและรสชาติที่ลงตัว เติม Perle Hop กลิ่นหอมๆจากถิ่น Hallertaur ใน Niederbayen ประเทศเยอรมัน แหล่งปลูก Hops ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วค่อยๆหมักบ่มอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จนได้เบียร์สีทองแดงที่ไม่เหมือนใครเหมือน มีรสชาตินุ่มมี Body กำลังดี" ร้านเค้าว่าไว้อย่างนั้นครับ

เบียร์อีกสองแบบยังไม่ได้ลองครับ เป็นเบียร์ดำ กับ เลเกอร์เบียร์ ถ้าลองแล้ววันหลังจะมาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ที่ราคาที่เค้าตั้งไว้สำหรับเบียร์คือ 0.3 litre 120 บาท 0.5 litre 160 บาท และ Tower 950 บาทครับ

ไ่ก่บาบีคิว
จานหลักของผมคืนนี้เป็น "ไก่บาบีคิว" เมนูนี้เป็น เป็นไก่ย่างขนาดเล็กหนึ่งตัว เหมือนผัดกับกระเทียม หัวหอม หอมแดง อยู่ในจานเปลขนาดไม่ใหญ่มาก ถ้าไม่ทานอะไรมาก่อนก็อ่ิมพอดีได้ ไก่ย่างออกมาสีสวยครับ สีแดงปนน้ำตาลไหม้ กลิ่นลอยมาแตะจมูกทำเอาน้ำลายสอเหมือนกัน จานนี้เสริฟพร้อมน้ำจิ้มสามชนิด  จิ้มถ้วยแรกใกล้ภาพที่สุดเป็น น้ำจิ้มข้นกลิ่นบาบีคิว แต่ไม่ค่อยออกกลิ่นรมควันของบาบีคิวมากนักหรือเราอาจจะไม่คุ้นกับบาบีคิวทางยุโรปหรือเปล่าไม่ทราบแต่เมื่อชิมจะเจอกลิ่นบาบีคิวจาง รสเผ็ดปานกลางไม่จัดจนต้องขยับเบียร์มาดื่มแก้เผ็ด ตอนแรกตอนเห็นไก่บนจานคิดว่าเป็นไก่ครึ่งตัว กินไปกินมาสงสัยจะเป็นไก่ทั้งตัวละมั้งไม่ใช่ครึ่งตัว ก็ใช่ครับเพราะมีสองน่องมาให้ แต่เป็นไก่ตัวเล็ก มันไม่เยอะ เนื้อเหนียวเล็กน้อย ที่นี่ย่างไก่มีกลิ่นควันหอมๆ ติดที่หนังไก่ แต่เป็นการย่างไก่แบบแห้ง น้ำจิ้มถ้วยกลางเป็นถ้วยที่สอง รูปลักษณ์เป็นเหมือนน้ำจิ้มไก่ที่เราคุ้นเห็นกันทั่วไป รสชาติก็ออกน้ำจิ้มไก่แต่ค่อน ข้างติดเค็มไม่หวานเหมือนน้ำจิ้มไก่ใส่ขวดที่วางขายกันอยู่ ส่วนกลิ่นเหมือนติดเหมือนกลิ่นหอยแมลงภู่แถมมาด้วย (หวังว่าคงไม่ใช่มีหอยตกลงไปนะ) ส่วนน้ำจิ้มถวยที่สามเป็นแบบใสๆ ลองชิมดูแล้วคล้ายๆกับ เอาน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำปลา โรยพริกป่น ตามด้วยผัก จานนี้ใครชอบทานไก่ย่าง แบบย่างแห้ง หนังเหนียวๆ หน่อย ลองจานนี้ได้ แต่ผมชอบแบบย่างแบบชุ่มน้ำเลยไม่ค่อยโอกับจานนี้เท่าไร

ก่อนกลับก็นั่งฟังเพลง Pop Jazz เบาๆ ท้องอิ่ม หมดไป 850 ครับ คืนวันนี้

โรงภาพยนต์ส่วนตัวใกล้บ้านผม UMG RCA

ผมเป็นแฟนโรงหนัง UMG RCA มาได้พักใหญ่ อาจจะแปลกใจว่าทำไมเป็นแฟนโรงหนัง ไม่ใช่แฟนหนัง ที่จริงแล้วหนังเรื่องอะไรเราก็สามารถไปดูได้ตามโรงภาพยนต์ที่มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ แต่โรงหนัง UMG RCA ที่นี่ สำหรับผมแล้วพิเศษหน่อย ตรงที่มีคนมาชมน้อยครับ เวลาไปดูเหมือนเรามีโรงหนังส่วนตัวเลย 


RCA Plaza


ในช่วงเวลาที่หนังเข้าฉายไปสักพักผมชอบไปดูมากที่สุด เนื่องด้วยเพราะมีคนเช้าชมน้อย สามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจชอบ จะเอาที่นั่งตรงกลาง ข้าง หรือหน้า ก็มีให้หมด  แถมรอบข้างไม่มีคนมานั่งพูดวิจารณ์หนังขณะฉายให้รู้เรื่องก่อนล่วงหน้าทำให้เดาออกว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครมาขยำถุงก๊อบแก็บเวลาภาพยนต์ฉายให้หงุดหงิด ไม่มีเสียงหวานๆ พูดจีบกันให้ฟังในโรงหนัง หรือไม่มีเด็กเล็กวิ่งไปมาตามทางเดินขณะดูหนังให้เสียสมาธิ 
โรงภาพยนต์ UMG RCA
บางรอบที่ผมไปดูนั้นเท่าที่นับคนเข้าไปชมมีแต่ 5 คนเอง ซึ่งผมคิดว่าหลายๆ รอบที่ฉายก็มีคนน้อยๆ เช่นนี้ แต่เจ้าของโรงหนังก็ยังใจดีเปิดฉายตลอด และคนให้บริการก็มีน้ำมิตร อัธยาศัยใจคอดี เป็นกันเอง เมื่อวานซืนที่ผ่านมา ผมรีบอยากไปดูไปนิดคือเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอนศึกนันทบุเรง ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม เพราะอยากรีบดูคราวนี้เลยมีคนมากหน่อย แต่เท่าที่คะเนด้วยสายตาผ่านแสงสลัวๆ ในโรงหนัง ผมว่ารอบที่ผมดูนั้นเรียกว่าแน่นสำหรับที่นี่ แต่ก็มีไม่เกิน 40 คนจากปริมาณโรงหนังที่น่าจะรองรับได้ซัก 300 ที่นั่ง เมื่อหนังเหมือนจบ คือขึ้น Credit  ผู้สร้างฯ ผู้กำกับ ดารานักแสดง แต่จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเมื่อ Run Credit จบจะมีช่วงท้ายต่ออีกหน่อยเป็นตอนที่บอกว่า ที่จริงแล้วพระราชมนูที่โดนลักไวทำมู แทงที่คอนั้นยังไม่ตายนะ แต่พอ Run Credit คนก็คิดว่าหนังจบแล้วเดินเริ่มเดินออกจากโรงไป คุณลุงที่เฝ้าโรงหนังก็ออกมายืนยกมือยกไว้โบกไปมา แล้วบอกว่า หนังยังไม่จบนะครับ มีต่ออีกนิดนึง อยากชมกลับเข้าไปดูได้เลยครับ ก็เป็นภาพที่น่าประทับใจดีครับที่แกอุตส่าห์เป็นห่วงว่าคนชมจะไม่ได้ชมครบทุกซีนหนัง ผมว่าน่ารักดีนะ 


ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอนศึกนันบุเรง
ราคาตั๋วชมภาพยนต์ที่นี่ก็ไม่หวือหวา วูบวาบคือ 100 บาทสถานเดียว ไม่ว่าจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังไม่มีฟอร์ม นอกจากนี้แล้ว โรงหนังยังใจปั้ม จัด Promotion อีกคือ ดูครบสิบครั้งเค้าแถมให้ครั้งหนึ่ง ใครอยากทาน Popcorn ก็มีให้บริการ ไม่ต้องถุงใหญ่จ่ายกันเป็นร้อยๆ แต่เป็นถุงขนาดพอทานบวกน้ำอัดลมให้อีกกระป๋องก็จ่ายแค่ 45 บาท เรียกว่ามีเงินร้อยห้าสิบก็รับความก็เต็มอิ่มได้สำหรับการชมภาพยนต์

หลายคนอยากนึกภาพว่าเป็น UMG RCA นั้นเป็นโรงภาพยนต์ราคาไม่ถูกแต่อาจสกปรก เลอะเทอะ รุงรัง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย โรงหนังที่นี่ตั้งอยู่ค่อนปลายถนน RCA ทางวิ่งออกไปโรงพยาบาลกรุงเทพ สภาพในโรงหนังนั้นสะอาดในระดับหนึ่ง ที่นั่งยังค่อนข้างใหม่ (อาจเป็นเพราะไม่ได้บอบช้ำมากนักจากก้นของใครต่อใครเหมือนโรงหนังที่อื่น) แม้จะมีคนมาชมน้อยแต่ทางโรงหนังเค้าก็ดูแลความสะอาดได้เป็นอย่างดี ไม่มีกลิ่นอับ เวลาชมภาพยนต์เสร็จก็ไม่ต้องรีบมาแย่งใครเข้าห้องน้ำ เพราะห้องน้ำที่จัดไว้มีพอสำหรับจำนวนผู้เข้าชมไม่กี่คนในแต่ละรอบ 
หากมองภูมิทัศน์โดยรอบก็บอกไม่ได้เลยว่าที่นี้เป็นโรงหนังชั้นสองถ้าหันหน้าเข้าโรงภาพยนต์ ด้านขวาก็เป็น TOPS Supermarket ที่มีคนจับจ่ายพลุกพล่าน หันซ้ายก็เป็นร้านอาหาร Fuji ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ด้านหลังฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นร้าน Starbucks ร้านกาแฟที่มีบ่อยครั้งที่มีสาวๆ หนุ่ม Celeb เข้ามาสั่งกาแฟกันอย่างคึกคัก เพียงแต่โรงหนังแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในหลืบสีสันใน RCA ทำให้คนไม่รู้จักมากนัก
ผมจำไม่ได้แน่ว่า UMG RCA นั้นมีโรงอยู่ 4 หรือ 5 โรงแต่พบว่าเมื่อรอบขวบปีที่ไปดูหนังที่นี่ มีโรงหนังอีกโรงตั้งขึ้นมาอยู่บนชั้น 3 ชื่อ House RCA โรงหนังโรงนี้อาจจะมองได้ว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ UMG RCA แต่อยู่ภายในอาคารเดียวกัน เท่าที่จำได้ตรงบริเวณนั้นก่อนหน้านี้เป็น Games Center ภายหลังปรับปรุงใหม่เป็นโรงหนัง และก็ไม่ธรรมดาด้วย ถ้าลองไปแล้วจะพบว่า ตกแต่งได้สวยงาม มีภาพรูป โปสเตอร์ฉายหนังจัดวาง แต่เรียงไว้ ยังกับเป็น Gallery ภาพยนต์มากกว่าจะเป็นโรงหนัง และตามความคิดผมอาจจะเป็นโรงหนังที่บริเวณเข้าชมภายนอกสวยที่สุดในบรรดาโรงภาพยนต์ที่เคยเห็นมากก็ว่าได้ เพียงแต่หลายคนไม่เคยทราบ ผมเองก็ยังไม่เคยใช้บริการ ได้แต่ไปเดินสำรวจภายในเท่านั้น
เอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะตัวเองชื่นชอบที่นี่เลยคิดว่าใครไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้อาจจะมาลองดูซักครั้งก็ได้นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กลับบ้าน

กลับมาเที่ยวเมืองชล เลยขี่รถมอเตอร์ไซด์เข้าไปในตลาด ถนนสายในที่ๆ เคยพลุกพล่านสมัยผมเป็นเด็กๆ ตอนนี้พอตอนเย็น ทุ่มนึงร้านรวงก็ปิดกันหมด นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง พอเมืองขยายออกไปทางบางแสน ศรีราชา ห้างดังๆ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล  บิ๊กซี แมคโคร โลตัส โรบินสัน บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า (ก่อนนี้เป็นคาร์ฟูร์) หรือ เอ้าท์เล็ตเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ทั้งหลายก็แห่กันมาเปิด รวมถึงตลาดนัดแบบสวนจตุจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองชล กับ บางแสน  สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเมืองชลเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าที่ขายดีก็กลายเป็นพอมีคนเดิน ที่ขายไม่ดีก็ปิดตัวไปหรือไม่ก็ขายๆ ไปพออยู่ได้แก้เซ็งไปวันๆ เพราะลูกๆ โตหากินกันเอง ตลาดรูปแบบเก่าๆ ห้องแถวชั้นเดียว มีคนจีน ศาลเจ้าเยอะตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็เหี่ยวแห้งโรยราไม่ตามยุคสมัยนิยมที่คนชมชอบห้างติดแอร์ มีของขายมากๆ
ในตลาดยังพอมีร้านอาหารเก่าๆ ที่คนยังมานิยมทานกันไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มปลา ตามสะพานต่างๆ ก๋วยจั๊บ ก็ยังพอหาทานได้ หรือเป็ดพะโล้แถวท่าเกวียนในเขตเมืองใกล้โรงพยาบาลชลเวช

ซอยศรีบัญญัติ












หลายคนคงไม่ทราบ ว่าสะพานในเมืองชลที่ยื่นออกไปในทะเลนั้นมีชื่อคล้องจองกัน จากชื่อสะพานตอนนี้กลายเป็นชื่อซอย รวม 34 สะพาน ไม่ว่าจะเป็น ราชวิถี  ศรีบัญญัติ  รัฐผดุง  บำรุงเขต  เจตน์ประชา  ฑีฆามารค  ภาคมหรรณพ์  จันทร์สถิตย์  พิทย์สถาน  บ้านลำภู  คูกำพล  กลป้อมค่าย  บ่ายพลนำ  สำราญราษฎร์  ชาติเดชา  ท่าเรือพลี  ศรีนิคม  ปฐมวัย  กรเกรียงยุค  สุขนิรันดร์เสริมสันติ  อดิเรก  เอกวุฒิ  อุทยาน  ธารนที  ปรีดารมย์  ชมสำราญ  ย่านโพธิ์ทอง  คลองสังเขป  เทพประสาท  ราษฎรประสิทธิ์  จิตประสงค์ จงประสาน  เทศบาลสมมุติ ส่วนตรอกซอยใหม่ที่เพิ่มเติมภายหลังก็จะตั้งเป็นชื่ออื่นๆ ไปเสียแล้ว 


ถนนสายใน (เจตจำนงค์) ชลบุรี















แต่ใครอยากเห็นชื่อซอยหรือชื่อสะพานตอนนี้ก็ไม่ได้เห็นกันง่ายๆ เพราะบางสะพานอยู่หลังห้องแถวสองชั้นที่มีถนนสายในมาขวางกั้น ถ้าจะเจาะหาชื่อสะพานกันจริงๆ บางทีก็ต้องไปตามตรอกถนนเล็กๆ ที่จริงแล้วสะพานก็ไม่ได้มีร้านรวงค้าขายอะไรกันมากมายนักแต่เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน คนเก่าแก่ที่เดิมอาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี
คนดังตอนนี้ที่เคยมีบ้านอยู่ในสะพานก็เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ศ.น.พ.สมพล พงศ์ไทย ท่านเคยเป็นรองอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลมาก่อนก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ก็เป็นคนชลบุรีเหมือนๆ กัน .. อืม วันนี้เลือกที่จะขี่มอเตอร์ไซด์เพื่อที่จะได้ไปช้าและได้ ซึมซับบรรยากาศเก่าๆ สมัยเป็นเด็กๆ ถึงแม้บ้านจะไม่ได้อยู่ที่สะพานหรือในตลาดแต่คุณปู่ คุณป้าก็เคยมีบ้านอยู่ในตลาด แถมคุณย่าก็เคยมีบ้านอยู่ที่ะพานจงประสาน เวลาช่างผ่านไปเร็วจริงๆ วันนี้ตลาดสายในของชลบุรีไม่เหมือนวันวานไปเสียแล้ว

บุริม 
7 ส.ค. 2554

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลูกค้ากับแบรนด์สายใยแห่งความผูกผัน

(Customer and Brand Engagement)
บทความโดย บุริม โอทกานนท์

แนวคิดในเรื่อง ความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) และ การตลาดเชิงประสบการณ์ (Customer Experiential Market) จะกลายเป็นเรื่องราวทางการตลาด ที่เริ่มพ้นสมัยไปในเวลาปัจจุบัน เพราะปัจจุบันได้มีแนวคิดใหม่ๆ ที่พัฒนาต่อยอดตัวเองขึ้นมาจากแนวคิดเดิมๆ เพื่อที่จะทำให้ตลาดสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและแนวคิดที่กำลังไดัรับความสนใจอย่างมาก ในวงการตลาดต่างประเทศและวงการตลาดในบ้านเราก็คือเรื่องของ การตลาดผูกสัมพันธ์ (Customer Engagement)

ความไม่ยั่งยืนของความพึงพอใจ
การสร้างความพึงพอใจของลูกค้านั้นเป็นเรื่องราวของยุคสมัยที่ตลาดมีการนำเสนอสินค้าและบริการที่ ได้ผลิตออกมานั้นเริ่มมีความเหมือนกันมากขึ้นเรื่อยๆ สินค้าและบริการเริ่มมีหาแตกต่างกันน้อยลง ดังนั้น นักการตลาดจึงหันมองคำว่า “ผู้บริโภค” หรือ Consumer ที่เคยใช้มาแต่อดีตนั้นว่า คำๆ นี้ อาจจะดูมีความหมายที่กว้างจนเกินไปเสียแล้วสำหรับการทำการตลาด  เพราะผู้บริโภคนั้นอาจหมายถึงผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการแต่อาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่จ่ายเงินในการซื้อสินค้า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนักการตลาดจึงเริ่มให้ความสนใจกับคำว่า “ลูกค้า” หรือ Customer แทนที่คำว่า “ผู้บริโภค” ทั้งนี้เป็นเพราะความต้องการที่จะระบุตัวตนอย่างแท้จริงของกลุ่มผู้ซื้อ หรือผู้ที่ผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าจริงๆ มากกว่าจะมองไปที่คนผู้เป็นผู้บริโภคสินค้า แนวคิดบนความหมายของคำว่า “ลูกค้า” นี้พยายามที่สร้างความพอใจให้เหนือความคาดหวังของผู้ซื้อสินค้าโดยคิดว่าหากลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น เกินความความหวัง ลูกค้าก็จะกลายเป็นผู้ซื้อที่มีความภักดีต่อสินค้าและบริการที่บริษัทหรือห้างร้านได้นำเสนอสู่ตลาด และยังเป็นการกรอบกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดให้ได้กระจ่างชัดมากขึ้น มีความเฉพาะเจาะจงมากกว่าแบบเดิมที่เน้นไปที่ผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะระบุตัวผู้ซื้อ จำกัดกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือดูเหมือนว่าบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ใช้วิธีแนวคิดการสร้างความพึงพอใจเหมือนกันทั้งนั้น เพียงแต่รูปแบบเทคนิควิธีการนั้นอาจจะมีความแตกต่างกันเช่นบางร้านเน้นเรื่องการบริการ บางร้านเน้นเรื่องความเร็ว บางร้านก็เน้นเรื่องความสะอาด ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะเป็นความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ ความภักดีของลูกค้า (Customer Loyalty)  ซึ่งกลับเป็นโจทย์ที่ทำให้นักการตลาดในยุคนั้นต้องหันกลับมานั่งขบคิดกันต่อเพราะพบว่า ความพึงพอใจนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดในระยะสั้นไม่ยืนยาวขึ้นอยู่กับทัศนคติของลูกค้า ณ ห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และอาจจะไม่คงทน และหากลูกค้าไม่พอใจความภักดีก็จะจางหายไปได้เร็วในช่วงเวลาไม่นาน

สิ่งที่เป็นตัวย้ำความคิดดังกล่าวก็คือตัวชี้วัดตัวที่ใช้ชี้ระบุความภักดีของลูกค้าที่นักการตลาดมักใช้กันก็คือ “การซื้อซ้ำ” หรือ Repeat Purchase แต่การซื้อซ้ำนั้นก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าลูกค้าที่พึงพอใจจะอยู่กับเราตลอดไป  หรือถึงลูกค้าจะมีความพึงพอใจกับสินค้าเราแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พึงพอใจสินค้าหรือบริการของคนอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสินค้ามีความเหมือนกันการเปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่นหรือใช้แบรนด์อื่นควบคู่กับแบรนด์ของเราก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ 

CRM มุมมองของลูกค้าสู่บริษัท
กลยุทธ์การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (Customer Relationship Management) นั้นอาจจะเป็นทางออกทางหนึ่งในการพัฒนากลยุทธ์การตลาดในการที่จะทำให้ลูกค้ายังคงอยู่กับเราได้นานขึ้น จากแนวคิดนี้จึงนักการตลาดจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้าในลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบเป็นรายบุคคล โดยมีแนวคิดว่า คนเรานั้นมีความชอบไม่เหมือนกัน การทำการตลาดโดยมองลูกค้าเป็นกลุ่มๆ (Segmentation)  อาจจะตอบสนองได้ดีไม่เพียงพอ ดังนั้นการให้ความสำคัญจึงมุ่งเน้นไปที่มุมมองของลูกค้าเป็นรายบุคล และให้พยายามที่จะติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเพื่อที่จะให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเป็นรายๆ บนความเชื่อที่ว่าการทำการตลาดในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ รู้จักมักคุ้นกับลูกค้าทุกรายที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัท

ผู้ที่กล่าวถึงแนวคิดแบบนี้เป็นรายแรกๆ ในช่วงต้นทศวรรษ 90’s  ก็คือ ดอน เป๊ปเปอร์และมาร์ธา โรเจอร์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็กลายมาเป็นหนังสือขายดีที่ชื่อว่า “The One To One Future: Building Relationships One Customer at a Time” ดอนและมาร์ธามีความเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้านั้นเป็นแนวคิดที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง กอรปกับในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีเรื่องอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีด้านการเก็บ วิเคราะห์ข้อมูลเริ่มมีประสิทธิภาพและมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นและได้รับความนิยมจากพัฒนาซอฟต์แวร์ จนเกิดการขยายตัวสร้างเกิดการเครื่องมือด้านเทคโนโลยีในการบริหารลูกค้ากันอย่างมากมาย  และเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำไปใช้ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารบนเครือข่ายอย่างอินเตอร์เน็ตที่เริ่มเข้าถึงคนหมู่มากและสามารถรองรับการใช้งานได้เป็นรายบุคล องค์ประกอบที่สำคัญของแนวคิดนี้จึงมีอยู่สองประการคือ การสร้างสัมพันธ์รายบุคลกับลูกค้าและใช้เทคโนโลยีในการประมวลผล

ผลลัพธ์ที่ถูกขยายจากแนวคิดดังกล่าวก็คือสิ่งที่นักการตลาดหลายคนเรียกกันว่า “Precision Marketing” หรือการทำการตลาดที่มีความแม่นยำ สามารถกำหนดหรือระบุความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ได้นำ Precision Marketing มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทั้งด้านการตลาด การบริหารซัพพลายเชน และงานการบริหารบุคลอย่างได้ผล 

สำหรับในประเทศไทยบริษัทเอกชนที่นำเรื่อง CRM มาใช้เป็นรายแรกๆ และรู้จักกันโดยทั่วไปก็อย่างเช่น Loyalty โปรแกรมของบริษัทการบินไทย ที่นำมาใช้กับลูกค้าโดยออกเป็นบัตร Royal Orchid Plus หรือซุปเปอร์มาร์เกตอย่าง TOPS ที่นำมาใช้กับบัตร Spot Rewards บนแนวคิดนี้ข้อมูลการซื้อสินค้าหรือบริการของลูกค้าจะถูกนำมาวิเคราะห์และจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขายให้ลูกค้าเฉพาะราย ซึ่งตัวอย่างผลลัพทธ์ดังกล่าวนั้นทำให้ TOPS ซุปเปอร์มาร์เกต สามารถเพิ่มยอดขาย (Basket Size) ของลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยต่อครั้งมากเป็นหลายเท่าตัว รวมถึงการแวะมาซื้อสินค้าของลูกค้าก็เพิ่มขึ้นมากด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม CRM นั้นยังเป็นมุมมองที่ ดอน เป๊ปเปอร์ พูดถึงว่าเป็น มุมของลูกค้าที่มีต่อบริษัท หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นมุมมองแค่ 180 องศา เพราะกิจกรรมส่งเสริมการขายที่บริษัทส่งยื่นให้กับลูกค้านั้นเป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าและคาดหมายว่าลูกค้าต้องการอะไรจากร้านค้า ทำให้ CRM นั้นยังเป็นเครื่องมือที่ยังไม่ครอบคลุมได้รอบทิศ มุมมองที่ขาดหายไปนั่นก็คือการที่บริษัทได้สร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับลูกค้า  ซึ่งเป็นขึ้นอยู่กับบริษัทจะสามารถสร้างให้ลูกค้ารู้สึกอย่างไรกับการซื้อสินค้าของบริษัท หรือห้างร้าน ซึ่งแนวคิดนี้ได้พัฒนาและถูกเติมเต็มเข้าไปกับการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า “การตลาดเชิงประสบการณ์” (Customer Experiential Marketing)

กลยุทธ์ CEM มุมมองจากบริษัทสู่ลูกค้า

แนวคิดการให้ประสบการณ์เชิงอารมณ์กับลูกค้านั้นเป็นส่วนของ 180 องศาที่ขาดหายไปในกลยุทธ์การตลาด ความคิดริเริ่มในเรื่องของการตลาดเชิงประสบการณ์นั้นมาจากข้อเขียนของไพน์และกิลมอร์ที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ในปี 1998 ชื่อเรื่อง “Welcome to the Experience Economy” โดยให้มุมมองว่า สินค้าที่ลูกค้าได้รับนั้นไม่ใช่แค่ตัวสินค้าแต่ยังเป็นประสบการณ์ที่จะเกิดกับการใช้ การสัมผัส การเห็น การได้ยิน กลิ่น อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มีทั้งต่อทั้งตัวสินค้าและต่อบริษัทที่จำหน่ายสินค้านั้นๆ  ไพน์และกิลมอร์เชื่อว่าประสบการณ์นั้นจะเป็นเรื่องที่น่าจดจำ และทำให้หวลระลึกถึงในตัวลูกค้าคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นหากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายสินค้าสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมทางการตลาดให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าได้ ลูกค้าก็จะมีพฤติกรรมตอบรับที่ดีต่อสินค้าหรือบริการที่เราได้จัดไว้ให้ และยังเป็นสิ่งถูกเก็บตรึงในจิตใจของลูกค้า

จากข้อดีของทั้งการบริหารลูกค้าสัมพันธ์และการตลาดเชิงประสบการณ์นักการตลาดจึงได้ผนวกรวมแนวคิดทั้งสองไว้ด้วยกันและนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านการวิเคราะห์และนำเสนอสินค้าที่ลูกค้าสนใจ สร้างประสบการณ์ความรู้สึกที่ดีต่อสินค้า แบรนด์และจนเกิดเป็นประสบการณ์ในตัวลูกค้าและทำให้เกิดการจดจำและระลึกถึงโดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าเกิดความภักดีในแบรนด์เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากความพึงพอใจ

CE กลยุทธ์สร้างความผูกผันของแบรนด์กับลูกค้า

พัฒนาการของการตอบสนองความต้องการของลูกค้านั้นไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การสร้างสัมพันธภาพและประสบการณ์ให้กับลูกค้าเท่านั้น เพราะคำถามต่อมานั้นเป็นเรื่องของการที่แม้จะว่าลูกค้าจะมีประสบการณ์ได้รับความพึงพอใจ ได้รับการเสนอสินค้าหรือบริการในเงื่อนไขที่แทบจะปฎิเสธได้ยาก แต่สำหรับแบรนด์ๆ หนึ่งแล้ว ลูกค้านั้นมีความผูกผันมากน้อยเพียงใด

ตัวเร่งปฎิกริยาในเรื่องของความผูกผันของลูกค้ากับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งนั้นเกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น  E-mail, Blog, Webboard, Social Media,  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการใช้ ความรู้สึกนึกคิดต่อสินค้า บริการ ของแบรนด์ต่างๆ ทำให้เจ้าของสินค้าสามารถมองเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วในมุมมองของลูกค้านั้นมีความคิด มุมมอง ทัศนคติและความผูกผันต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากน้อย หรือลึกซึ้งเพียงไร

อย่างที่เกริ่นมาตั้งแต่ตอนต้น ความพึงพอใจนั้นเป็นความรู้สึก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งแต่อารมณ์นั้นอาจจะสูญหายไปได้ในพริบตาหากลูกค้าที่ได้ใช้หรือได้รับบริการในครั้งต่อไปแล้วรู้สึกไม่ประทับใจเหมือนการใช้บริการครั้งก่อน ความพึงพอใจอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เรารับบริการหรือใช้สินค้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย เร็ว และในขณะเดียวกันก็สามารถจางหายไปได้ง่ายและรวดเร็วเหมือนกับตอนที่เกิดขึ้น ส่วนความผูกผันนั้นเป็นประสบการณ์ในอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปจากความพึงพอใจ ความผูกผันอาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ บ่อย หรือถี่ แต่จำเป็นต้องใช้เวลาและการตอบสนองร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ความบ่อย ความถี่ การทำกิจกรรมร่วมกันของก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะกลายไปเป็นความเข้าใจ ความเห็นใจ การอยากที่จะสนับสนุน หรือแม้กระทั่งการปกป้องซึ่งกันและกัน เหมือนกับประโยคที่กล่าวว่า “ระหว่างเพื่อนกับคนรู้จักนั้นมีความผูกพันแตกต่างกัน”

วิลเลียม แมคอีเวน ได้เขียนเรื่องของความผูกผันของลูกค้าต่อแบรนด์ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า “Married to The Brand: Why Consumer Bond With Some Brands for Life” โดยกล่าวว่าเรื่องราวของความผูกผันของลูกค้ากับแบรนด์ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลักๆ สองปัจจัย ปัจจัยแรกคือประสบการณ์จากการได้ซื้อสินค้าหรือบริการ ร่วมกับประสบการณ์ของการได้ใช้สินค้าหรือบริการนั้นๆ ซึ่งปัจจัยในข้อแรกนั้นมีปัจจัยเกี่ยวข้องอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า คุณภาพ ประสิทธิภาพ การแก้ปัญหา การสื่อสาร การให้บริการ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่สองคือปัจจัยที่มีอิทธิพลอื่นๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ ข่าวสารของแบรนด์ การพูดถึงบอกต่อ การเปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่ง สถานที่ เป็นต้น ปัจจัยหลักทั้งสองปัจจัยทำให้ลูกค้าความผูกผันต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งในระดับที่แตกต่างกัน

วิลเลียม แมคอีเวนยังได้กล่าวถึงการสร้างความผูกพันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานสองส่วนคือ ส่วนแรกคือการสร้างความผูกผันบนพื้นฐานของการใช้งานผลิตภัณฑ์  ซึ่งพื้นฐานในส่วนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองระดับได้แก่ ระดับแรกคือ แบรนด์น่าเชื่อถือและรักษาสัญญา (Confidence) และระดับที่สองคือ เป็นแบรนด์ที่ให้เกียรติและช่วยแก้ปัญหาได้ (Integrity) ในส่วนที่สองของการสร้างความผูกผันตั้งอยู่บนพื้นฐานทางอารมณ์ ซึ่งก็สามารถแบ่งออกได้อีกเป็นสองระดับคือ ระดับความภูมิใจที่ได้ใช้แบรนด์ (Pride) ซึ่งเป็นระดับที่สาม และแบรนด์ของฉัน (Passion) เป็นระดับที่สี่ หรือระดับสุดท้ายของการสร้างความผูกผันระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ซึ่งรายละเอียดของการสร้างความผู้กผันนั้นวิลเลียม แมคอีเวนได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

(สำหรับการแปลความหมายของภาษาอังกฤษซึ่งแมคอีเวนได้เขียนไว้ในหนังสือของเขานั้นท่านผู้อ่านอาจจะพบความแตกต่างออกไปจากการแปลความหมายภาษาไทยแบบตรงตัว เนื่องจากการกำหนดนิยามของความหมายภาษาอังกฤษนั้นมาจากข้อคำถามของแต่ละระดับที่ทางแมคอีเวนได้ใช้ในการสร้างโมเดลความผูกผันในหนังสือเล่มนี้)

ความผูกผันบนพื้นฐานของการใช้งานผลิตภัณฑ์

ระดับแรก แบรนด์น่าเชื่อถือและรักษาสัญญา (Confidence)

ในระดับนี้ความผูกผันจะเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าเริ่มเกิดความเชื่อมั่นและมีศรัทธาว่าแบรนด์ๆ นั้นจะทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับลูกค้า ซึ่งการที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกศรัทธาเชื่อมั่นนี้ไม่ได้เกิดในช่วงเพียงข้ามคืน แต่ต้องอาศัยเวลาและความพยายามที่จะทำให้เป็นไปตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับลูกค้า แม้การบริษัทจะพยายามบอกลูกค้าว่า “จะพยายามทำดีที่สุด” นั้นก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ ศรัทธานั้นไม่ได้มาจากแค่การพยายามของแบรนด์ที่จะส่งมอบสิ่งที่สัญญาไว้ให้กับลูกค้า แต่ศรัทธาจะเกิดขึ้นเมื่อสัญญาที่ได้ให้ไว้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา

เราจะเห็นตัวอย่างอย่างมากมายของผลิตภัณฑ์ที่ออกประกาศโฆษณาไม่ว่าจะเป็น ครีมทาหน้า ยาสระผม ยาลดน้ำหนัก ที่ให้สัญญาว่าจะเห็นผลใน 7 วัน ซึ่งคำสำคัญเหล่านี้ถือเป็นคำสัญญาที่แบรนด์ต้องสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง และหากคำสัญญาเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นได้จะด้วยข้อแม้ใดๆก็ตาม ก็อาจจะทำให้ลูกค้าไม่เกิดศรัทธาในแบรนด์ๆ นั้นและไม่สามารถสร้างพื้นฐานของความมั่นใจให้กับสินค้าและบริการแก่ลูกค้าได้

ระดับที่สอง  เป็นแบรนด์ที่ให้เกียรติและช่วยแก้ปัญหาได้ (Integrity)

ความผูกผันในระดับที่สองหมายถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้วางใจ ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ แบรนด์ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าแบรนด์ที่ตนเองใช้อยู่นั้น มีความซื่อสัตย์จริงใจ ไม่โกหกหลอกลวง และตรงไปตรงมา ซึ่งระดับขีดขั้นของความผูกผันนี้เหนือกว่าระดับที่หนึ่งคือการทำตามสัญญา ในระดับนี้คำสัญญาที่แบรนด์ได้ให้ไว้นั้นก็ควรจะเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นได้จริงและเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันและมีเหตุผลกับลูกค้าทุกคนที่ใช้แบรนด์เดียวกัน และนอกเหนือจากการทำตามสัญญาแล้ว แบรนด์ยังต้องเป็นแบรนด์ที่เรียกว่า “วางใจได้” คือเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแบรนด์ๆ นั่นจะช่วยให้ลูกค้าหลุดรอดพ้นจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ตัวอย่างของการไว้วางใจได้ที่เราอาจพบเห็นเช่นบริษัทประกันภัยที่มีความซื่อสัตย์และรักษาคำสัญญาด้านประกันภัยที่ให้ไว้กับลูกค้า และเมื่อลูกค้าเกิดปัญหาก็จัดการเคลมให้อย่างไม่รอช้า ไม่อิดออดและยังดูแลลูกค้าในยามที่พบประสบปัญหาเป็นต้น

ความผูกผันบนพื้นฐานของอารมณ์

ระดับที่สาม ความภูมิใจที่ได้ใช้แบรนด์ (Pride)

ในระดับขั้นนี้ลูกค้าผู้ใช้แบรนด์เกิดความภูมิใจในแบรนด์ที่ใช้ มีความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ เกิดความผูกผันและประสบการณ์เชิงอารมณ์ในระดับที่สูงขึ้นกว่าแค่ความประทับใจหรือความผูกผันที่คิดว่าแบรนด์นั้นทำตามสัญญา หรือไว้วางใจได้  ในระดับของความภูมิใจนั้นอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคล ลูกค้าเชื่อว่าแบรนด์ๆ ที่เขาใช้นั้นรับฟังสิ่งที่เขาต้องการอย่างให้เกรียติและแบรนด์พยายามที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านั้น  หากทำได้ลูกค้าก็จะเกิดความภูมิใจที่เลือกใช้แบรนด์ ไม่อายที่จะบอกคนรอบข้างว่าตนเองได้ใช้แบรนด์สินค้านั้นๆ อยู่ หรือแม้กระทั่งกล้าที่จะบอกต่อให้ผู้อื่นหันมาใช้แบรนด์ที่ตนเองชื่นชอบและผูกผัน

ความผูกผันในระดับนี้เราอาจจะเห็นได้จากแบรนด์ดังหลายๆแบรนด์ที่ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และใช้สินค้าด้วยความภูมิใจ และอยากที่จะบอกต่อว่าแบรนด์ที่ตัวเองใช้อยู่นั้นดีมากน้อยเพียงใด ที่เราพบเห็นกันบ่อยเช่นนาฬิกา ปากกา กระเป๋า ยี่ห้อดังต่างๆ หรือแม้แต่สินค้าราคาย่อมเยาอย่างร้านอาหารก็สมารถทำให้ลูกค้าที่ไปรับบริการนั้นเกิดความภูมิใจได้ว่าตนเองได้เป็นลูกค้าหรือได้ใช้บริการอยู่

ระดับที่สี่ แบรนด์ของฉัน (Passion)

ในระดับนี้ลูกค้ามองเห็นคุณค่าของใช้แบรนด์สินค้า และการที่ได้มีแบรนด์นั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ทั้งยังไม่สามารถทดแทนด้วยแบรนด์อื่นได้  ถึงแม้จะเป็นสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันก็ตาม พูดง่ายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นของความว่า “ชอบ” กับคำว่า “รัก” นั่นเอง และคงไม่ใช่เป็นสินค้าแบรนด์อันดับแรกที่เลือกใช้ แต่กลับเป็นแบรนด์ๆ เดียวที่ลูกค้าเลือกใช้

เราอาจจะเคยเห็นคนหลายที่ยอมให้ผิวกายมีรอยสักเป็นโลโก้ของแบรนด์ดังยี่ห้อต่างๆ บนเนื้อหนังของตนเอง หรืออาจเอาแบรนด์ที่ตัวเองนิยมชมชอบทำเป็นสติกเกิร์ปิดทับไว้บนร่างกาย การที่จะทำอย่างนั้นได้ลูกค้าต้องมีความรักแบรนด์อย่างเหนียวแน่น ลูกค้าในระดับนี้นั้นยังพร้อมที่จะโดดออกมาปกป้องแบรนด์ที่ตนเองรักหากมีใครมากล่าวหาหรือดูถูกแบรนด์ที่ตนเองหลงใหล นอกจากนี้เราอาจจะเห็นกลุ่มเครือข่ายของแบรนด์ที่มีลูกค้าเป็นผู้จัดการบริหารกลุ่มเครือข่ายที่พวกเขาตั้งขึ้นมา  แทนที่จะเป็นบริษัทเจ้าของแบรนด์เป็นผู้บริหารเครือข่าย ก็ด้วยเพราะความรัก ความผูกผัน และการที่แบรนด์นั้นๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขาไปเสียแล้ว

ความผูกผันสายใยคล้องใจลูกค้ากับแบรนด์

รากฐานของความผูกผันนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ กับทุกๆ แบรนด์เพราะตัวของแบรนด์นั้นไม่สามารถสร้างความผูกผันได้ แต่ผู้ที่สร้างความผูกพันระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ได้นั้นจึงเรื่องระดับนโยบายของบริษัทที่ต้องมีอุดมการณ์ ศรัทธาและความเชื่อมั่น ในตัวของลูกค้า หรือแม้กระทั่วเชื่อมั่นในตัวพนักงานหรือผู้ให้บริการสินค้าแบรนด์นั้นๆ

การสร้างความผูกผันกับลูกค้าเป็นแนวคิดการทำการตลาดแบบยั่งยืนต่อทั้งลูกค้า แบรนด์ และเจ้าของสินค้า ข้อสำคัญคือเจ้าของสินค้าต้องมีความอดทน มีความคิดสร้างสรรค์ และมองลูกค้าในมุมของการแบ่งปัน ช่วยเหลือ จริงใจ และซื่อสัตย์ คำทุกคำที่เขียนหรือพูดออกไปในชิ้นงานโฆษณานั้นถือเป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า หากเจ้าของสินค้าไม่สามารถปฎิบัติตามได้  ก็ย่อมเป็นการยากที่จะสร้างความผูกผันที่ยาวนานกับลูกค้าคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และหากปฎิบัติตามสัญญาไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ CRM, CEM,  หรือ CE ก็ไม่สามารถช่วยให้แบรนด์ๆ นั้นรอดพ้นจากการล่มสลายหรือคลายความนิยมลงไปได้ และหาก "ความผูกผันคือคำสำคัญของแบรนด์นั้นแล้ว ก็อย่าปล่อยให้ความผูกผันนั้นเหือดหายไปเพราะไม่ได้ทำตามคำสัญญา" นะครับ 


บรรณานุกรม
Hom, W. (2000) “An Overview of Customer Satisfaction Models” RP Group Proceedings.

McEwen, W. J. (2005) “Married To The Brand: Why Consumers Bond With Some Brans for Life” Gallup Press: NY.

Peppers, D. & Rogers, M. (1993) “The One To One Future: Building Relationships One Customer at a Time” Double Day:NY.

Customer Satisfaction

Significant differences between customer experience management (CEM) and CRM

The Experience Economy

The Experience Economy

หมายเหตุ
ต้นฉบับของบทความฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Strategy+Marketing ฉบับเดือนเมษายนและพฤษภาคม 25