วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อพ่อผมเป็นเสรีไทย

ขบวนนำงาน 66 ปีวันสันติภาพไทย 
วันนี้ผมพาพ่อไปร่วมงาน 66 ปี วันสันติภาพไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งไปกราบท่านปรีดี พนมยงค์ (Code Name: รูธ) ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งในวันนี้ก็มีกลุ่มนักเรียนเตรียมฯจุฬา-ธรรมศาสตร์อาสาศึก (นร.สห. 2488) ไปร่วมงานกันประมาณ 20 ท่าน คุณพ่อผมในขณะนั้นเป็นเสรีไทยสายนักเรียนนายสิบสารวัตทหารเตรียมฯ จุฬา-ธรรมศาสตร์ โดยเป็นเสรีไทยรุ่นเดียวกับคุณประมวล สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเสรีไทยสายอเมริกาอย่างคุณหญิงอัมพร มีศุข มาร่วมเป็นองค์ปาฐก ซึ่งท่านเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการ เช่น รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ อธิบดีกรมวิชาการ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ 
ในงานเสวนา 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งต่อมาเรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมอินโดจีน ตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้รุกรานประเทศไทย (ญี่ปุ่นโจมตี เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ตามเวลาของประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ โดยยุทธการที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นที่รู้จักคือ ยุทธการอ่าวมะนาว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกองบิน 53 ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เหตุผลที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยนั้นมีเป้าหมายที่จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางลำเลียงคน อาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่า โดยมีเป้าหมายต่อไปที่จะบุกไปยังประเทศอินเดีย และอีกด้านหนึ่งก็จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางบุกแหลมมาลายูซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของสหราชอณาจักร ซึ่งจากการใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางในการส่งกำลังผ่านไปยังพม่าและมาลายูในช่วงต้นกลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยในเวลาต่อมาเมื่อญี่ปุ่นสามารถชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ในหลายๆ สมรภูมิ แรงกดดันนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่อำนาจและมีอิทธิพลเหนือดินแดนอินโดจีนแทบทั้งหมด และเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยยอมลงนามทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ที่วัดพระแก้ว และจากเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) ที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น
ขบวนการเสรีไทยที่ก่อกำเนิดขึ้นนั้นแบ่งออกเป็นสามสายคือ
สายที่หนึ่ง เป็นกลุ่มคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
               โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ
สายที่สอง เป็นกลุ่มคนไทยในสหราชอณาจักรอังกฤษ 
               โดยมีกลุ่มเจ้านายและนักเรียนเป็นผู้นำ
สายที่สาม เป็นกลุ่มคนไทยภายในประเทศไทย 
               โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ
น.พ.บุณย์ธนิสร์ โอทกานนท์ เสรีไทย
ในตอนนั้นคุณพ่อผมยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมจุฬาฯ และก็ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบสารวัตทหาร ขึ้นตรงกับพลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ พวก นร.สห. มักเรียกท่านว่า "ป๋า" ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นองคมนตรี) สารวัตรใหญ่เสรีไทยสายทหารเรือ  ซึ่งระหว่างนั้นต้องไปฝึกกินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ประมาณ 3 เดือน และอาคารโดมก็ถูกใช้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของคณะเสรีไทยสายภายในประเทศ ภารกิจหลักส่วนหนึ่งตอนนั้นก็คือเตรียมพร้อมที่จะสู้กับผู้บุกรุก (นร.สห. 2488 รู้จักกันในชื่อวันดีเดย์) และให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย และเตรียมพร้อมซึ่งหากกลุ่มทหารญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้สงครามนั้นเกิดลุกฮือขึ้นก่อการร้ายในประเทศ เสรีไทยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธชนิดต่างจากสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 แต่ก็ไม่ได้ก่อการใด แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มสารวัตนักเรียนกลุ่มนี้ (จำนวนทั้งสิ้น 298 นาย) ก็ยังได้รับการฝึกไปจนถึงเดือนกันยายน 2488 และได้รับภารกิจต่อเนื่องในการปรามปรามความวุ่นวายที่ก่อขึ้นจากชาวจีนบางส่วนในเยาวราชที่ก่อความวุ่นวายแข็งข้อ (เรียกในชื่อ เลี๊ยพะ) นักเรียนสารวัตทหารชุดนี้จึงถูกส่งไปปราบปราม จนกระทั่งความวุ่นวายถูกปราบปรามและสงบลงในเดือนพฤศจิกายน 2488

เสรีไทย นักเรียนนายร้อยสารวัตทหารและนายสิบสารวัตทหาร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงและการก่อความวุ่นวายในประเทศจบสิ้น คณะเสรีไทยนักเรียนสารวัตและนักเรียนนายสิบสารวัตกลุ่มนี้ก็ได้แยกย้ายกันไป บางส่วนก็เข้ารับราชการต่อในกรมศุลากร (ที่ไปรับราชการในกรมศุลากรนั้นคาดว่าเพราะพลเรือตรีหลวงสังวรณ์ยุทธกิจนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร) บางส่วนก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย บางส่วนไปอยู่การรถไฟ หรือไปเป็นปลัดอำเภอ ในส่วนคุณพ่อผมก็กลับมาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังนักเรียนสารวัตทหารกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล
ความเกี่ยวพันของเสรีไทยกับวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันสันติภาพ ตามความคิดเห็นของผมก็เพราะในวันที่ 16 สิงหาคมนี้เป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสันติภาพ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศสันติภาพนี้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1) โดยมีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้นเป็นการกระทำที่ผิดจากเจตน์จำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมูญและกฎหมายไทย และประชาชนชาวไทยก็ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว และถือได้ว่าการกระทำนั้นเป็นโมฆะไม่ผูกผันกับประชาชนชาวไทย และจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์และร่วมมืออย่างเต็มที่กับสหประชาชาติเพื่อสถาปนาเสถียรภาพของโลกนี้ โดยผู้ประกาศคือท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ซ้าย: ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขวา: ดร.ป๋วย อึ้งภากร
ซึ่งหากจะต่อภาพจิ๊กซอนี้เข้าด้วยกันก็จะพอเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลไทยในการร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริการ และได้ทำการต่อต้านการกระทำในครั้งนั้นรวมทั้งผลักดันให้เกิดการประกาศโมฆะกรรมของข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้น และเป็นผลประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศของเรานั้นรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม ซึ่งผลของผู้ชนะกับผู้แพ้นั้นอาจจะแตกต่างกันอย่างลิบลับต่อการดำรงอยู่ของชาติไทยและประชาชนชาวไทยในเวลาต่อมา 
ผมขอขอบคุณเสรีไทยทุกสายและทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปกป้องเอกราชชาติของเราในกาลนั้นและขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นแหล่งพักพึ่งพิงและเป็นกองบัญชาการเสรีไทยให้ นร.สห. รวมถึงคุณพ่อของผม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งที่ต้องจดจำเพราะที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยทำให้โลกนี้เกิดสันติภาพ   

บุริม โอทกานนท์
16 สิงหาคม 2554

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1)
2. หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ “66 ปีวันสันติภาพไทย”
3. http://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิญี่ปุ่น
4. http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W3610563/W3610563.html 
5. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=18-04-2010&group=29&gblog=22
6. http://www.nhrc.or.th/menu_content.php?doc_id=95
7. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=482837



วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อิ่มท้อง ลองของใหม่ที่ EST.33

The Nine, Rama IX road
ก่อนกลับบ้านแวะไปที่ Neighbourhood Mall เปิดใหม่ที่ชื่อ The Nine อยู่บนถนนพระราม 9 ตรงนี้เดิมเคยเป็น Premier พระราม 9 ครับ แต่ไม่ติด เลยปรับโฉมใหม่ คราวนี้คนตรึมเลย ที่จอดรถหากันแทบไม่ได้ นี่ขนาดร้านรวงต่างๆ ยังเปิดไม่หมดนะเนี่ย

ลองเดิน Mall ใหม่ซักพักท้องก็ร้อง จ๊อกๆ ซะแล้ว มองหาร้านอาหารซักพักก็พบว่ามีร้านอาหารเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น Fast Food อาหารไทย อาหารญี่ปุ่น หรืออาหารฝรั่ง ท้ายสุดมาหยุดโป๊ะลงที่ EST.33 ลองซักมื้อ

ชุดไส้กรอก
จาน Appetizer คืนนี้เป็นจานไส้กรอก เค้าให้ไส้กรอกมาสามชิ้น เพราะมัวหิวเลยลืมถามว่าไส้กรอกชื่ออะไรบ้าง แท่งแรกเป็นสีนวลขาว แท่งใหญ่หน่อย น่าจะเป็นไส้กรอกเนื้อลูกวัว เส้นนี้รสชาติธรรมดาครับไม่ค่อยแตกต่างจากไส้กรอกรูปแบบเดียวกันที่อื่นๆ แท่งกลางสีแดงสด เป็นไส้กรอกหมูพริก มีไทยเม็ดฝังเป็นระยะตามความยาว ย่างแบบแห้ง ได้รสเนี้อเต็มๆ แบบไม่ติดมัน ไส้ที่ใช้ทําไส้กรอกเหนียวนิด ได้รสการกัดแบบฉีกขาด กร๊วม กร๊วม เหมือนแฟรงค์เฟริสต์ ถ้าแนวนี้ เส้นยาวสีแดงที่หนึ่งว่ารสชาติโอเคครับ ส่วนแท่งสุดท้ายเป็นแบบผสมๆ รสชาติก็ไม่เด่นนัก


Copper Beer
ต่อมาเป็นน้ำสีทอง พรายฟองไม่ค่อยมี เค้าตั้ง Slogan ว่า "The One The Only ครับ หรือชื่อ Copper Beer ผมลองแล้วดูว่าเป็นเบียร์กลิ่นหอมดอกฮอพแบบจางๆ ติดขมนิดๆ ไม่มาก ดีกรีไม่รุนแรง Body แน่นปานกลางไม่มากนัก น้ำสีทองออกน้ำตาลเข้มแต่รสยัง ไม่ติดลิ้นนะ ทางร้านเค้า Claim ว่า "เป็นเบียร์ที่บริวมาสเตอร์ของไทยผสมกับข้าว GABA หรือข้าวกล้องชั้นดี เพื่อให้ได้สีและรสชาติที่ลงตัว เติม Perle Hop กลิ่นหอมๆจากถิ่น Hallertaur ใน Niederbayen ประเทศเยอรมัน แหล่งปลูก Hops ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แล้วค่อยๆหมักบ่มอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จนได้เบียร์สีทองแดงที่ไม่เหมือนใครเหมือน มีรสชาตินุ่มมี Body กำลังดี" ร้านเค้าว่าไว้อย่างนั้นครับ

เบียร์อีกสองแบบยังไม่ได้ลองครับ เป็นเบียร์ดำ กับ เลเกอร์เบียร์ ถ้าลองแล้ววันหลังจะมาเล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ที่ราคาที่เค้าตั้งไว้สำหรับเบียร์คือ 0.3 litre 120 บาท 0.5 litre 160 บาท และ Tower 950 บาทครับ

ไ่ก่บาบีคิว
จานหลักของผมคืนนี้เป็น "ไก่บาบีคิว" เมนูนี้เป็น เป็นไก่ย่างขนาดเล็กหนึ่งตัว เหมือนผัดกับกระเทียม หัวหอม หอมแดง อยู่ในจานเปลขนาดไม่ใหญ่มาก ถ้าไม่ทานอะไรมาก่อนก็อ่ิมพอดีได้ ไก่ย่างออกมาสีสวยครับ สีแดงปนน้ำตาลไหม้ กลิ่นลอยมาแตะจมูกทำเอาน้ำลายสอเหมือนกัน จานนี้เสริฟพร้อมน้ำจิ้มสามชนิด  จิ้มถ้วยแรกใกล้ภาพที่สุดเป็น น้ำจิ้มข้นกลิ่นบาบีคิว แต่ไม่ค่อยออกกลิ่นรมควันของบาบีคิวมากนักหรือเราอาจจะไม่คุ้นกับบาบีคิวทางยุโรปหรือเปล่าไม่ทราบแต่เมื่อชิมจะเจอกลิ่นบาบีคิวจาง รสเผ็ดปานกลางไม่จัดจนต้องขยับเบียร์มาดื่มแก้เผ็ด ตอนแรกตอนเห็นไก่บนจานคิดว่าเป็นไก่ครึ่งตัว กินไปกินมาสงสัยจะเป็นไก่ทั้งตัวละมั้งไม่ใช่ครึ่งตัว ก็ใช่ครับเพราะมีสองน่องมาให้ แต่เป็นไก่ตัวเล็ก มันไม่เยอะ เนื้อเหนียวเล็กน้อย ที่นี่ย่างไก่มีกลิ่นควันหอมๆ ติดที่หนังไก่ แต่เป็นการย่างไก่แบบแห้ง น้ำจิ้มถ้วยกลางเป็นถ้วยที่สอง รูปลักษณ์เป็นเหมือนน้ำจิ้มไก่ที่เราคุ้นเห็นกันทั่วไป รสชาติก็ออกน้ำจิ้มไก่แต่ค่อน ข้างติดเค็มไม่หวานเหมือนน้ำจิ้มไก่ใส่ขวดที่วางขายกันอยู่ ส่วนกลิ่นเหมือนติดเหมือนกลิ่นหอยแมลงภู่แถมมาด้วย (หวังว่าคงไม่ใช่มีหอยตกลงไปนะ) ส่วนน้ำจิ้มถวยที่สามเป็นแบบใสๆ ลองชิมดูแล้วคล้ายๆกับ เอาน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำปลา โรยพริกป่น ตามด้วยผัก จานนี้ใครชอบทานไก่ย่าง แบบย่างแห้ง หนังเหนียวๆ หน่อย ลองจานนี้ได้ แต่ผมชอบแบบย่างแบบชุ่มน้ำเลยไม่ค่อยโอกับจานนี้เท่าไร

ก่อนกลับก็นั่งฟังเพลง Pop Jazz เบาๆ ท้องอิ่ม หมดไป 850 ครับ คืนวันนี้

โรงภาพยนต์ส่วนตัวใกล้บ้านผม UMG RCA

ผมเป็นแฟนโรงหนัง UMG RCA มาได้พักใหญ่ อาจจะแปลกใจว่าทำไมเป็นแฟนโรงหนัง ไม่ใช่แฟนหนัง ที่จริงแล้วหนังเรื่องอะไรเราก็สามารถไปดูได้ตามโรงภาพยนต์ที่มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ แต่โรงหนัง UMG RCA ที่นี่ สำหรับผมแล้วพิเศษหน่อย ตรงที่มีคนมาชมน้อยครับ เวลาไปดูเหมือนเรามีโรงหนังส่วนตัวเลย 


RCA Plaza


ในช่วงเวลาที่หนังเข้าฉายไปสักพักผมชอบไปดูมากที่สุด เนื่องด้วยเพราะมีคนเช้าชมน้อย สามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจชอบ จะเอาที่นั่งตรงกลาง ข้าง หรือหน้า ก็มีให้หมด  แถมรอบข้างไม่มีคนมานั่งพูดวิจารณ์หนังขณะฉายให้รู้เรื่องก่อนล่วงหน้าทำให้เดาออกว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครมาขยำถุงก๊อบแก็บเวลาภาพยนต์ฉายให้หงุดหงิด ไม่มีเสียงหวานๆ พูดจีบกันให้ฟังในโรงหนัง หรือไม่มีเด็กเล็กวิ่งไปมาตามทางเดินขณะดูหนังให้เสียสมาธิ 
โรงภาพยนต์ UMG RCA
บางรอบที่ผมไปดูนั้นเท่าที่นับคนเข้าไปชมมีแต่ 5 คนเอง ซึ่งผมคิดว่าหลายๆ รอบที่ฉายก็มีคนน้อยๆ เช่นนี้ แต่เจ้าของโรงหนังก็ยังใจดีเปิดฉายตลอด และคนให้บริการก็มีน้ำมิตร อัธยาศัยใจคอดี เป็นกันเอง เมื่อวานซืนที่ผ่านมา ผมรีบอยากไปดูไปนิดคือเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอนศึกนันทบุเรง ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม เพราะอยากรีบดูคราวนี้เลยมีคนมากหน่อย แต่เท่าที่คะเนด้วยสายตาผ่านแสงสลัวๆ ในโรงหนัง ผมว่ารอบที่ผมดูนั้นเรียกว่าแน่นสำหรับที่นี่ แต่ก็มีไม่เกิน 40 คนจากปริมาณโรงหนังที่น่าจะรองรับได้ซัก 300 ที่นั่ง เมื่อหนังเหมือนจบ คือขึ้น Credit  ผู้สร้างฯ ผู้กำกับ ดารานักแสดง แต่จริงๆ แล้วหนังเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเมื่อ Run Credit จบจะมีช่วงท้ายต่ออีกหน่อยเป็นตอนที่บอกว่า ที่จริงแล้วพระราชมนูที่โดนลักไวทำมู แทงที่คอนั้นยังไม่ตายนะ แต่พอ Run Credit คนก็คิดว่าหนังจบแล้วเดินเริ่มเดินออกจากโรงไป คุณลุงที่เฝ้าโรงหนังก็ออกมายืนยกมือยกไว้โบกไปมา แล้วบอกว่า หนังยังไม่จบนะครับ มีต่ออีกนิดนึง อยากชมกลับเข้าไปดูได้เลยครับ ก็เป็นภาพที่น่าประทับใจดีครับที่แกอุตส่าห์เป็นห่วงว่าคนชมจะไม่ได้ชมครบทุกซีนหนัง ผมว่าน่ารักดีนะ 


ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอนศึกนันบุเรง
ราคาตั๋วชมภาพยนต์ที่นี่ก็ไม่หวือหวา วูบวาบคือ 100 บาทสถานเดียว ไม่ว่าจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังไม่มีฟอร์ม นอกจากนี้แล้ว โรงหนังยังใจปั้ม จัด Promotion อีกคือ ดูครบสิบครั้งเค้าแถมให้ครั้งหนึ่ง ใครอยากทาน Popcorn ก็มีให้บริการ ไม่ต้องถุงใหญ่จ่ายกันเป็นร้อยๆ แต่เป็นถุงขนาดพอทานบวกน้ำอัดลมให้อีกกระป๋องก็จ่ายแค่ 45 บาท เรียกว่ามีเงินร้อยห้าสิบก็รับความก็เต็มอิ่มได้สำหรับการชมภาพยนต์

หลายคนอยากนึกภาพว่าเป็น UMG RCA นั้นเป็นโรงภาพยนต์ราคาไม่ถูกแต่อาจสกปรก เลอะเทอะ รุงรัง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย โรงหนังที่นี่ตั้งอยู่ค่อนปลายถนน RCA ทางวิ่งออกไปโรงพยาบาลกรุงเทพ สภาพในโรงหนังนั้นสะอาดในระดับหนึ่ง ที่นั่งยังค่อนข้างใหม่ (อาจเป็นเพราะไม่ได้บอบช้ำมากนักจากก้นของใครต่อใครเหมือนโรงหนังที่อื่น) แม้จะมีคนมาชมน้อยแต่ทางโรงหนังเค้าก็ดูแลความสะอาดได้เป็นอย่างดี ไม่มีกลิ่นอับ เวลาชมภาพยนต์เสร็จก็ไม่ต้องรีบมาแย่งใครเข้าห้องน้ำ เพราะห้องน้ำที่จัดไว้มีพอสำหรับจำนวนผู้เข้าชมไม่กี่คนในแต่ละรอบ 
หากมองภูมิทัศน์โดยรอบก็บอกไม่ได้เลยว่าที่นี้เป็นโรงหนังชั้นสองถ้าหันหน้าเข้าโรงภาพยนต์ ด้านขวาก็เป็น TOPS Supermarket ที่มีคนจับจ่ายพลุกพล่าน หันซ้ายก็เป็นร้านอาหาร Fuji ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ด้านหลังฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นร้าน Starbucks ร้านกาแฟที่มีบ่อยครั้งที่มีสาวๆ หนุ่ม Celeb เข้ามาสั่งกาแฟกันอย่างคึกคัก เพียงแต่โรงหนังแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในหลืบสีสันใน RCA ทำให้คนไม่รู้จักมากนัก
ผมจำไม่ได้แน่ว่า UMG RCA นั้นมีโรงอยู่ 4 หรือ 5 โรงแต่พบว่าเมื่อรอบขวบปีที่ไปดูหนังที่นี่ มีโรงหนังอีกโรงตั้งขึ้นมาอยู่บนชั้น 3 ชื่อ House RCA โรงหนังโรงนี้อาจจะมองได้ว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ UMG RCA แต่อยู่ภายในอาคารเดียวกัน เท่าที่จำได้ตรงบริเวณนั้นก่อนหน้านี้เป็น Games Center ภายหลังปรับปรุงใหม่เป็นโรงหนัง และก็ไม่ธรรมดาด้วย ถ้าลองไปแล้วจะพบว่า ตกแต่งได้สวยงาม มีภาพรูป โปสเตอร์ฉายหนังจัดวาง แต่เรียงไว้ ยังกับเป็น Gallery ภาพยนต์มากกว่าจะเป็นโรงหนัง และตามความคิดผมอาจจะเป็นโรงหนังที่บริเวณเข้าชมภายนอกสวยที่สุดในบรรดาโรงภาพยนต์ที่เคยเห็นมากก็ว่าได้ เพียงแต่หลายคนไม่เคยทราบ ผมเองก็ยังไม่เคยใช้บริการ ได้แต่ไปเดินสำรวจภายในเท่านั้น
เอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะตัวเองชื่นชอบที่นี่เลยคิดว่าใครไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้อาจจะมาลองดูซักครั้งก็ได้นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กลับบ้าน

กลับมาเที่ยวเมืองชล เลยขี่รถมอเตอร์ไซด์เข้าไปในตลาด ถนนสายในที่ๆ เคยพลุกพล่านสมัยผมเป็นเด็กๆ ตอนนี้พอตอนเย็น ทุ่มนึงร้านรวงก็ปิดกันหมด นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง พอเมืองขยายออกไปทางบางแสน ศรีราชา ห้างดังๆ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล  บิ๊กซี แมคโคร โลตัส โรบินสัน บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า (ก่อนนี้เป็นคาร์ฟูร์) หรือ เอ้าท์เล็ตเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ทั้งหลายก็แห่กันมาเปิด รวมถึงตลาดนัดแบบสวนจตุจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองชล กับ บางแสน  สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเมืองชลเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าที่ขายดีก็กลายเป็นพอมีคนเดิน ที่ขายไม่ดีก็ปิดตัวไปหรือไม่ก็ขายๆ ไปพออยู่ได้แก้เซ็งไปวันๆ เพราะลูกๆ โตหากินกันเอง ตลาดรูปแบบเก่าๆ ห้องแถวชั้นเดียว มีคนจีน ศาลเจ้าเยอะตามตรอกซอกซอยต่างๆ ก็เหี่ยวแห้งโรยราไม่ตามยุคสมัยนิยมที่คนชมชอบห้างติดแอร์ มีของขายมากๆ
ในตลาดยังพอมีร้านอาหารเก่าๆ ที่คนยังมานิยมทานกันไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มปลา ตามสะพานต่างๆ ก๋วยจั๊บ ก็ยังพอหาทานได้ หรือเป็ดพะโล้แถวท่าเกวียนในเขตเมืองใกล้โรงพยาบาลชลเวช

ซอยศรีบัญญัติ












หลายคนคงไม่ทราบ ว่าสะพานในเมืองชลที่ยื่นออกไปในทะเลนั้นมีชื่อคล้องจองกัน จากชื่อสะพานตอนนี้กลายเป็นชื่อซอย รวม 34 สะพาน ไม่ว่าจะเป็น ราชวิถี  ศรีบัญญัติ  รัฐผดุง  บำรุงเขต  เจตน์ประชา  ฑีฆามารค  ภาคมหรรณพ์  จันทร์สถิตย์  พิทย์สถาน  บ้านลำภู  คูกำพล  กลป้อมค่าย  บ่ายพลนำ  สำราญราษฎร์  ชาติเดชา  ท่าเรือพลี  ศรีนิคม  ปฐมวัย  กรเกรียงยุค  สุขนิรันดร์เสริมสันติ  อดิเรก  เอกวุฒิ  อุทยาน  ธารนที  ปรีดารมย์  ชมสำราญ  ย่านโพธิ์ทอง  คลองสังเขป  เทพประสาท  ราษฎรประสิทธิ์  จิตประสงค์ จงประสาน  เทศบาลสมมุติ ส่วนตรอกซอยใหม่ที่เพิ่มเติมภายหลังก็จะตั้งเป็นชื่ออื่นๆ ไปเสียแล้ว 


ถนนสายใน (เจตจำนงค์) ชลบุรี















แต่ใครอยากเห็นชื่อซอยหรือชื่อสะพานตอนนี้ก็ไม่ได้เห็นกันง่ายๆ เพราะบางสะพานอยู่หลังห้องแถวสองชั้นที่มีถนนสายในมาขวางกั้น ถ้าจะเจาะหาชื่อสะพานกันจริงๆ บางทีก็ต้องไปตามตรอกถนนเล็กๆ ที่จริงแล้วสะพานก็ไม่ได้มีร้านรวงค้าขายอะไรกันมากมายนักแต่เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน คนเก่าแก่ที่เดิมอาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี
คนดังตอนนี้ที่เคยมีบ้านอยู่ในสะพานก็เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ศ.น.พ.สมพล พงศ์ไทย ท่านเคยเป็นรองอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลมาก่อนก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา ก็เป็นคนชลบุรีเหมือนๆ กัน .. อืม วันนี้เลือกที่จะขี่มอเตอร์ไซด์เพื่อที่จะได้ไปช้าและได้ ซึมซับบรรยากาศเก่าๆ สมัยเป็นเด็กๆ ถึงแม้บ้านจะไม่ได้อยู่ที่สะพานหรือในตลาดแต่คุณปู่ คุณป้าก็เคยมีบ้านอยู่ในตลาด แถมคุณย่าก็เคยมีบ้านอยู่ที่ะพานจงประสาน เวลาช่างผ่านไปเร็วจริงๆ วันนี้ตลาดสายในของชลบุรีไม่เหมือนวันวานไปเสียแล้ว

บุริม 
7 ส.ค. 2554