วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมื่อพ่อผมเป็นเสรีไทย

ขบวนนำงาน 66 ปีวันสันติภาพไทย 
วันนี้ผมพาพ่อไปร่วมงาน 66 ปี วันสันติภาพไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งไปกราบท่านปรีดี พนมยงค์ (Code Name: รูธ) ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งในวันนี้ก็มีกลุ่มนักเรียนเตรียมฯจุฬา-ธรรมศาสตร์อาสาศึก (นร.สห. 2488) ไปร่วมงานกันประมาณ 20 ท่าน คุณพ่อผมในขณะนั้นเป็นเสรีไทยสายนักเรียนนายสิบสารวัตทหารเตรียมฯ จุฬา-ธรรมศาสตร์ โดยเป็นเสรีไทยรุ่นเดียวกับคุณประมวล สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีเสรีไทยสายอเมริกาอย่างคุณหญิงอัมพร มีศุข มาร่วมเป็นองค์ปาฐก ซึ่งท่านเป็นสุภาพสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการ เช่น รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ อธิบดีกรมวิชาการ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ 
ในงานเสวนา 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งต่อมาเรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมอินโดจีน ตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็ได้รุกรานประเทศไทย (ญี่ปุ่นโจมตี เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ตามเวลาของประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ โดยยุทธการที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นที่รู้จักคือ ยุทธการอ่าวมะนาว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกองบิน 53 ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เหตุผลที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยนั้นมีเป้าหมายที่จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางลำเลียงคน อาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่า โดยมีเป้าหมายต่อไปที่จะบุกไปยังประเทศอินเดีย และอีกด้านหนึ่งก็จะใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางบุกแหลมมาลายูซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการควบคุมของสหราชอณาจักร ซึ่งจากการใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางในการส่งกำลังผ่านไปยังพม่าและมาลายูในช่วงต้นกลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยในเวลาต่อมาเมื่อญี่ปุ่นสามารถชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ในหลายๆ สมรภูมิ แรงกดดันนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถแผ่อำนาจและมีอิทธิพลเหนือดินแดนอินโดจีนแทบทั้งหมด และเป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลไทยยอมลงนามทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ที่วัดพระแก้ว และจากเหตุการณ์นั้นก็เป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) ที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น
ขบวนการเสรีไทยที่ก่อกำเนิดขึ้นนั้นแบ่งออกเป็นสามสายคือ
สายที่หนึ่ง เป็นกลุ่มคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา
               โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำ
สายที่สอง เป็นกลุ่มคนไทยในสหราชอณาจักรอังกฤษ 
               โดยมีกลุ่มเจ้านายและนักเรียนเป็นผู้นำ
สายที่สาม เป็นกลุ่มคนไทยภายในประเทศไทย 
               โดยมี ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ
น.พ.บุณย์ธนิสร์ โอทกานนท์ เสรีไทย
ในตอนนั้นคุณพ่อผมยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมจุฬาฯ และก็ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบสารวัตทหาร ขึ้นตรงกับพลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ พวก นร.สห. มักเรียกท่านว่า "ป๋า" ต่อมาภายหลังท่านได้เป็นองคมนตรี) สารวัตรใหญ่เสรีไทยสายทหารเรือ  ซึ่งระหว่างนั้นต้องไปฝึกกินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ประมาณ 3 เดือน และอาคารโดมก็ถูกใช้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของคณะเสรีไทยสายภายในประเทศ ภารกิจหลักส่วนหนึ่งตอนนั้นก็คือเตรียมพร้อมที่จะสู้กับผู้บุกรุก (นร.สห. 2488 รู้จักกันในชื่อวันดีเดย์) และให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย และเตรียมพร้อมซึ่งหากกลุ่มทหารญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้สงครามนั้นเกิดลุกฮือขึ้นก่อการร้ายในประเทศ เสรีไทยกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธชนิดต่างจากสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 แต่ก็ไม่ได้ก่อการใด แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มสารวัตนักเรียนกลุ่มนี้ (จำนวนทั้งสิ้น 298 นาย) ก็ยังได้รับการฝึกไปจนถึงเดือนกันยายน 2488 และได้รับภารกิจต่อเนื่องในการปรามปรามความวุ่นวายที่ก่อขึ้นจากชาวจีนบางส่วนในเยาวราชที่ก่อความวุ่นวายแข็งข้อ (เรียกในชื่อ เลี๊ยพะ) นักเรียนสารวัตทหารชุดนี้จึงถูกส่งไปปราบปราม จนกระทั่งความวุ่นวายถูกปราบปรามและสงบลงในเดือนพฤศจิกายน 2488

เสรีไทย นักเรียนนายร้อยสารวัตทหารและนายสิบสารวัตทหาร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงและการก่อความวุ่นวายในประเทศจบสิ้น คณะเสรีไทยนักเรียนสารวัตและนักเรียนนายสิบสารวัตกลุ่มนี้ก็ได้แยกย้ายกันไป บางส่วนก็เข้ารับราชการต่อในกรมศุลากร (ที่ไปรับราชการในกรมศุลากรนั้นคาดว่าเพราะพลเรือตรีหลวงสังวรณ์ยุทธกิจนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร) บางส่วนก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย บางส่วนไปอยู่การรถไฟ หรือไปเป็นปลัดอำเภอ ในส่วนคุณพ่อผมก็กลับมาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายหลังนักเรียนสารวัตทหารกลุ่มนี้ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล
ความเกี่ยวพันของเสรีไทยกับวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันสันติภาพ ตามความคิดเห็นของผมก็เพราะในวันที่ 16 สิงหาคมนี้เป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสันติภาพ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประกาศสันติภาพนี้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1) โดยมีเนื้อหาโดยสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม 2485 นั้นเป็นการกระทำที่ผิดจากเจตน์จำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมูญและกฎหมายไทย และประชาชนชาวไทยก็ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำดังกล่าว และถือได้ว่าการกระทำนั้นเป็นโมฆะไม่ผูกผันกับประชาชนชาวไทย และจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์และร่วมมืออย่างเต็มที่กับสหประชาชาติเพื่อสถาปนาเสถียรภาพของโลกนี้ โดยผู้ประกาศคือท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ซ้าย: ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขวา: ดร.ป๋วย อึ้งภากร
ซึ่งหากจะต่อภาพจิ๊กซอนี้เข้าด้วยกันก็จะพอเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลไทยในการร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริการ และได้ทำการต่อต้านการกระทำในครั้งนั้นรวมทั้งผลักดันให้เกิดการประกาศโมฆะกรรมของข้อตกลงที่เกิดขึ้นนั้น และเป็นผลประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศของเรานั้นรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม ซึ่งผลของผู้ชนะกับผู้แพ้นั้นอาจจะแตกต่างกันอย่างลิบลับต่อการดำรงอยู่ของชาติไทยและประชาชนชาวไทยในเวลาต่อมา 
ผมขอขอบคุณเสรีไทยทุกสายและทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการปกป้องเอกราชชาติของเราในกาลนั้นและขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นแหล่งพักพึ่งพิงและเป็นกองบัญชาการเสรีไทยให้ นร.สห. รวมถึงคุณพ่อของผม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งที่ต้องจดจำเพราะที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยทำให้โลกนี้เกิดสันติภาพ   

บุริม โอทกานนท์
16 สิงหาคม 2554

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่มที่ 62 ภาคผนวก (1)
2. หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ “66 ปีวันสันติภาพไทย”
3. http://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิญี่ปุ่น
4. http://topicstock.pantip.com/writer/topicstock/W3610563/W3610563.html 
5. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=pn2474&date=18-04-2010&group=29&gblog=22
6. http://www.nhrc.or.th/menu_content.php?doc_id=95
7. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=482837



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น